ทีนี้อาจมีคำถามว่าถ้าคู่อิแนนชิโอเมอร์เหมือนกันขนาดนั้นจะต้องไปแยกออกจากกันทำไม คำตอบคือระบบต่างๆ ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตมีความสามารถในการแยกแยะคู่อิแนนชิโอเมอร์ได้ เนื่องจากชีวโมเลกุลต่างๆ ที่พบในสิ่งมีชีวิตล้วนแล้วแต่ปรากฏอยู่ในรูปแบบเดียว (อิแนนชิโอเมอร์เดี่ยว) เท่านั้น ร่างกายจึงแสดงการตอบสนองกับโมเลกุลที่เป็นคู่อิแนนชิโอเมอร์ได้ไม่เหมือนกัน เปรียบเสมือนกับมือซ้ายก็จะสวมได้แต่ถุงมือข้างซ้าย จะมาสวมถุงมือข้างขวาก็จะไม่เข้ากันพอดี ดังนั้นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเช่นยารักษาโรค ส่วนใหญ่ถ้ายานั้นมีคู่อิแนนชิโอเมอร์ ร่างกายจะตอบสนองกับแต่ละอิแนนชิโอเมอร์ได้แตกต่างกัน ในบางกรณีคู่อิแนนชิโอเมอร์อาจจะแสดงฤทธิ์เดียวกันแต่ไม่เท่ากัน หรือในอีกหลายกรณีอิแนนชิโอเมอร์หนึ่งอาจจะแสดงฤทธิ์ที่ต้องการ แต่อีกอิแนนชิโอเมอร์หนึ่งอาจจะไม่แสดงฤทธิ์ แสดงฤทธิ์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง หรือแม้แต่อาจจะเป็นพิษได้
ดังนั้นการควบคุมให้เกิดเพียงอิแนนชิโอเมอร์เดียวที่ต้องการหรือที่เรียกว่าการสังเคราะห์แบบอสมมาตร (asymmetric synthesis) จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก โดยเมื่อปี ค.ศ. 2000 William Knowles, Ryoji Noyori และ K. Barry Sharpless ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีจากการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาแบบอสมมาตร (asymmetric catalyst) ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มอัตราเร็วของการเกิดปฏิกิริยาแล้วยังสามารถควบคุมการเกิดอิแนนชิโอเมอร์เดี่ยวที่ต้องการได้ การใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาในการควบคุมอิแนนชิโอเมอร์ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญเนื่องจากโมเลกุลของตัวเร่งปฏิกิริยาเพียง 1 โมเลกุลสามารถทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปอิแนนชิโอเมอร์ที่ต้องการได้หลักร้อยหรืออาจจะถึงหลักแสนหลักล้านโมเลกุล
อย่างไรก็ตาม ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้แม้จะมีประสิทธิภาพสูงแต่ก็ยังมีปัญหาสำคัญคือว่องไวต่อน้ำและอากาศ จึงต้องควบคุมภาวะของการทำปฏิกิริยาอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ ตัวเร่งปฏิกิริยาอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสามารถในการควบคุมการเกิดอิแนนชิโอเมอร์คือเอนไซม์ แต่เอนไซม์ส่วนใหญ่มีโครงสร้างที่ซับซ้อน ใช้งานยาก ต้องการภาวะที่ควบคุมอย่างดี ค่อนข้างเลือกสารที่จะยอมทำปฏิกิริยาด้วย และยังไม่มีเอนไซม์ที่เหมาะสมสำหรับเร่งปฏิกิริยาบางปฏิกิริยาที่ไม่พบในธรรมชาติ (หมายเหตุ: Frances Arnold ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี 2018 จากการพัฒนาเทคนิคการสร้างและคัดเลือกเอนไซม์ที่เร่งปฏิกิริยาที่ไม่พบในธรรมชาติ)
ในช่วงเริ่มต้นสหัสวรรษใหม่ประมาณปี ค.ศ. 2000 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่งานวิจัยเกี่ยวกับตัวเร่งปฏิกิริยาแบบอสมมาตรได้รับรางวัลโนเบลนั้นเอง (อันเป็นดอกผลของงานที่ทำตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980) List และ MacMillan ต่างคนต่างก็ได้พัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยากลุ่มใหม่ที่เป็นโมเลกุลของสารอินทรีย์ล้วน ๆ ปราศจากโลหะอย่างสิ้นเชิงจึงมีชื่อเรียกสารกลุ่มนี้ว่าออร์แกโนคะตะลิสต์ (organocatalyst) โดย List ค้นพบว่ากรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่ชื่อโพรลีน สามารถเร่งปฏิกิริยาที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพสูง ที่สำคัญคือสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในภาวะที่ไม่ต้องการการควบคุมที่เคร่งครัดดังเช่นตัวเร่งปฏิกิริยาแบบอสมมาตรหรือเอนไซม์ที่เคยมีการใช้งานกันมาในอดีต อีกทั้งยังหาได้ง่าย ราคาถูก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีทั้งสองคู่อิแนนชิโอเมอร์ ทำให้สามารถเลือกได้ว่าจะควบคุมผลิตภัณฑ์ให้เกิดอิแนนชิโอเมอร์ใดก็ได้ตามต้องการ (เอนไซม์ส่วนใหญ่จะไม่สามารถเลือกได้ว่าจะให้เกิดคู่อิแนนชิโอเมอร์ไหนเนื่องจากธรรมชาติสร้างเอนไซม์มาเพียงรูปแบบเดียว) ในขณะที่ List ทำงานกับกรดอะมิโนที่พบในธรรมชาติ
ในเวลาไล่เลี่ยกัน MacMillan เลือกที่จะพัฒนาโมเลกุลสังเคราะห์ ที่เรียกว่าไครัลอิมมิดาโซลิโนน ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงกับโพรลีน และสามารถเร่งปฏิกิริยาแบบอสมมาตรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงเช่นเดียวกัน จากงานบุกเบิกของนักเคมีทั้งสอง ทำให้งานวิจัยทางด้านนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด asymmetric organocatalysis กลายเป็นศาสตร์ใหม่ที่มีผู้ให้ความสนใจอย่างมาก ในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดออร์แกโนคะตะลิสต์ที่หลากหลาย ครอบคลุมแทบจะทุกปฏิกิริยา และมีการนำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในการสังเคราะห์โมเลกุลต่างๆ ที่ซับซ้อน การค้นพบนี้นอกจากจะมีความสำคัญในอุตสาหกรรมยาแล้ว โมเลกุลที่เป็นอิแนนชิโอเมอร์เดี่ยวยังมีขอบเขตการประยุกต์ใช้ในด้านอื่นๆ อย่างกว้างขวาง เช่น สารให้กลิ่น-รส วัสดุที่มีสมบัติเชิงกล สมบัติเชิงแสง หรือสมบัติเชิงไฟฟ้าที่เป็นที่ต้องการ ตัวรับรู้สำหรับการแยกแยะคู่อิแนนชิโอเมอร์ เป็นต้น จะเห็นว่างานวิจัยทางด้านเคมีเป็นพื้นฐานที่สำคัญของทุกงานจริงๆ
และอยากให้สังเกตว่างานนี้จากจุดเริ่มต้นจนถึงการได้รับรางวัลโนเบลซึ่งแสดงถึงการได้รับการยอมรับอย่างไม่มีข้อกังขาก็เมื่อเวลาผ่านไปแล้วถึงกว่า 20 ปี ซึ่งกาลเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นผลงานที่ทรงคุณค่า คุ้มค่าแก่การรอคอยจริงๆ ที่จริงคนไทยเก่ง ๆ มีไม่น้อย แต่ยังขาดโอกาสและทรัพยากรสนับสนุนเพื่อให้ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ ก็ได้แต่วาดฝันไว้ว่าคนไทยใน generation นี้จะได้มีโอกาสเห็นนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล Made in Thailand ในอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกลกะเขาสักที
บทความโดย ศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์