มารู้จักเครื่อง Pulse oximeter กันเถอะ

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น ทำให้มีการใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (pulse oximeter) เพื่อบ่งชี้อาการขาดออกซิเจนในเลือดหรือในเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นผลจากการที่ปอดติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถแลกเปลี่ยนแก๊สออกซิเจนกับเลือดได้อย่างเพียงพอ โดยเรียกภาวะนี้ว่า silent hypoxia หรือ happy hypoxia เนื่องจากผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการขาดออกซิเจน ดังนั้นการใช้เครื่องวัดออกซิเจนจะช่วยให้สามารถสังเกตอาการหรือความน่าจะเป็นที่ผู้ป่วยจะติดไวรัสโควิด-19 ได้ทันท่วงที

สำหรับหลักการทำงานของ pulse oximeter อาศัยสมบัติการดูดกลืนแสงที่ต่างกันของฮีโมโกลบิน (hemoglobin) ซึ่งเป็นโปรตีนองค์ประกอบหลักในเลือด ฮีโมโกลบินมีไอออนเหล็กซึ่งสามารถจับออกซิเจนได้ โดยฮีโมโกลบินที่จับออกซิเจน (oxygenated hemoglobin) จะมีสีแดงเข้ม จึงดูดกลืนแสงสีแดงได้น้อย และดูดกลืนแสงอินฟราเรดได้ดี (ความยาวคลื่น 940 nm) ในขณะที่ฮีโมโกลบินที่ไม่มีออกซิเจน (deoxygenated hemoglobin) มีสีคล้ำกว่า และดูดกลืนแสงสีแดง (ความยาวคลื่น 660 nm) ได้ดีกว่า

ด้วยเหตุนี้ เครื่อง pulse oximeter จึงอาศัยการวัดการดูดกลืนแสงที่ทั้งสองความยาวคลื่น เพื่อคำนวณหาอัตราส่วน oxygenated Hb ต่อ deoxygenated Hb และคำนวณเป็นค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (oxygen saturation) หรือ SpO2 ได้

เครื่อง pulse oximeter แบบหนีบปลายนิ้ว จะอ่านค่าที่แม่นยำได้ในช่วง 70-100% SpO2 และมีความคลาดเคลื่อนประมาณ 4% โดยการแปลผลของค่า SpO2 คือ
>=94% ติดตามอาการที่บ้าน
< 94% ควรติดต่อโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการ
<=90% รีบส่งตัวไปยังโรงพยาบาลทันที

นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังในการใช้ pulse oximeter ได้แก่
– ถ้าเป็นไปได้ วางเครื่องวัดบนพื้นเรียบ
– ใช้นิ้วที่แห้งและสะอาด และตรวจสอบว่าเครื่องวัดกับนิ้วมีขนาดเหมาะสมกัน นิ้วที่ใหญ่หรือเล็กไป ทำให้อ่านค่าพลาดได้
– วางนิ้วให้คลุมบริเวณรับสัญญาณ เพื่อป้องกันการรบกวนจากแสงภายนอก
– นวดนิ้วให้อุ่นก่อนวัด เพราะนิ้วที่เย็นมีเลือดไปเลี้ยงน้อย อาจอ่านค่าพลาด
– อยู่นิ่งๆ ขณะวัด การเคลื่อนไหวมากๆ ทำให้อ่านค่าผิดได้
– ไม่ทาเล็บ (หรือใช้เล็บปลอม) เพราะน้ำยาทาเล็บทำให้การค่าผิดพลาดได้
– อ่านและบันทึกผล 2-3 ครั้งต่อวันเพื่อติดตามอาการ
นอกจากนี้ผู้มีเม็ดเลือดแดงผิดปกติบางชนิดหรือได้รับยาบางตัวอาจอ่านค่า SpO2 ได้ต่ำกว่าความเป็นจริง

Reference

Guidelines for the use of pulse oximetry in monitoring COVID-19 patients in HBIC

Pulse Oximeter Accuracy and Limitations: FDA Safety Communication

Pulse oximetry: Understanding its basic principles facilitates appreciation of its limitations