การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่งในการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีโอกาสพัฒนาเป็นยารักษาโรค คณะผู้วิจัยนำโดย ผศ.ดร.วรินทร ชวศิริ รศ.ดร.สันติ ทิพยางค์ ดร.ชณัท อ้นบางเขน และ Postdoctoral fellow, Dr. Edwin R. Sukandar ได้แยกสารจากใบมะดัน (Garcinia schomburgkiana) และค้นพบสารใหม่ 10 ตัว ให้ชื่อว่า Schomburginones A−J เป็นสารในกลุ่ม benzophenones พร้อมกับอนุพันธ์ 14 ตัว ได้วิเคราะห์โครงสร้างด้วยเทคนิค NMR spectroscopy และ Mass spectrometry ศึกษา absolute configurations ด้วยเทคนิค ECD ร่วมกับ single-crystal X-ray diffraction ได้ทดสอบฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ 3 ชนิด คือ HepG2 (เซลล์มะเร็งตับ) A549 (เซลล์มะเร็งปอด) และ HeLa (เซลล์มะเร็งปากมดลูก) พบว่าสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งปากมดลูกได้ดีที่สุด ด้วยค่า IC50 ในช่วง 12.2–15.7 μM และมีความจำเพาะต่อเซลล์มะเร็งมากกว่าเซลล์ปกติ >3.5 เท่า นอกจากนี้ ได้นำสาร 4 ตัวไปทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพเพิ่มเติมเพื่อดูสมบัติต้านการอักเสบในเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิด RAW 264.7 macrophage cells พบว่า มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งสารไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นผลจากกระบวนการอักเสบ (inflammation) ได้ถึง 85%
การศึกษานี้ถือเป็นต้นแบบสำคัญของการใช้องค์ความรู้ทางเคมีอินทรีย์ มาศึกษาวิจัยเชิงลึกเพื่อค้นหาสารสำคัญจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาสมุนไพรไทยเพื่อเป็นยา เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และไม่มีผลข้างเคียง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการสร้างความยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมสมุนไพรไทยให้มีผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในประเทศและต่างประเทศได้เป็นอย่างดี
- Warinthorn Chavasiri
- Edwin R. Sukandar
- Sutin Kaennakam
- Sutthida Wongsuwan
- Jaruwan Chatwichien
- Sucheewin Krobthong
- Yodying Yingchutrakul
- Thanisorn Mahatnirunkul
- Fadjar Mulya
- Vudhichai Parasuk
- David J. Harding
- Preeyaporn Poldorn
- Thanyada Rungrotmongkol
- Santi Tip-pyang
- Chanat Aonbangkhen