ประวัติ

รากฐานการศึกษาเคมีในประเทศไทย

ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานที่มีประวัติศาสตร์และความเป็นมาอันยาวนาน การเรียนการสอนเคมีในประเทศไทยเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อมีโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2453 ก่อนการก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระยะแรกอยู่ภายใต้คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็น 1 ใน 4 คณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2461 โดยเน้นการสอนวิทยาศาสตร์สามัญให้นิสิตแพทย์และวิศวกรรมศาสตร์

ตึกเคมี 1
ศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ

ศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ

ศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ เป็นผู้ได้รับทุนจากมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ไปศึกษาระดับปริญญาเอก ทางด้านเคมีที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับปริญญาเอกสาขาเคมี เป็นผู้มีบทบาทสำคัญใน การพัฒนาการเรียนการสอนของภาควิชาเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่างหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมี ซึ่งได้รับอนุมัติให้เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2477

นิสิตรุ่นแรก

นิสิตรุ่นแรก

นิสิตจบการศึกษาปริญญาบัณฑิตเป็นบัณฑิตเคมีรุ่นแรก ในปี พ.ศ. 2478 หลักสูตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาเคมีมีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2484 ทำให้ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เป็นภาควิชาเคมีแห่งแรกที่มีหลักสูตรทั้งระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษา

1 ใน 4 ภาควิชาแรกเริ่มของคณะวิทยาศาสตร์

เมื่อคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แยกออกเป็น 2 คณะ ในปี พ.ศ. 2486 แผนกเคมีจึงเป็น 1 ใน 4 แผนกของ คณะวิทยาศาสตร์ที่ตั้งขึ้นใหม่ และในที่สุดก็ได้มีหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาเคมีขึ้นในปีพ.ศ. 2536 นอกจากนี้ ภาควิชาเคมียังมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งและพัฒนาหลักสูตรสหสาขาระดับบัณฑิตศึกษาหลายหลักสูตรร่วมกับ ภาควิชาอื่นภายในคณะวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ๆได้ครบรอบ 100 ปีการเรียนการสอนเคมีในประเทศไทย ซึ่งมีจุดเริ่มต้น ที่ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2553

ตึกเคมี 2

สร้างความร่วมมือในระดับสากล

 ในด้านการวิจัยระหว่างปี พ.ศ. 2519-2526 ภาควิชาเคมีได้ทำหน้าที่เป็นสำนักงานใหญ่ของโครงการร่วมมือทางเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของหน่วยวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ปี พ.ศ. 2528 ศาสตราจารย์ Jean Marie Lehn จากมหาวิทยาลัยหลุยส์ ปาสเตอร์ ประเทศฝรั่งเศส ผู้เพิ่งได้รับรางวัลโนเบลทางเคมีได้ให้เกียรติมาเยี่ยมและบรรยายที่ภาควิชา และได้มีการเจรจาความร่วมมือระหว่างสถาบัน ที่ทำให้มีการแลกเปลี่ยนนิสิตไปศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยในประเทศฝรั่งเศส และกลับมาเป็นอาจารย์ของภาควิชาหลายคน ทำให้เกิดหน่วยวิจัยเคมีซุปราโมเลกุลที่เข้มแข็งของภาควิชา ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยที่ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเภทหน่วยงาน จากมูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2544

เริ่มก่อตั้งหน่วยวิจัย

นอกจากนี้ภาควิชาเคมียังมีความร่วมมือกับต่างประเทศอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมหาวิทยาลัยอินสบรุก ประเทศออสเตรีย ในปี พ.ศ.2531 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งหน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นอีกหน่วยวิจัยหนึ่งที่ผลิตผลงานวิจัยเป็นจำนวนมากให้กับภาควิชา และต่อมาจึงเกิดเป็นหน่วยวิจัยที่เข้มแข็งและได้รับการสนับสนุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีก 7 หน่วย ได้แก่ หน่วยวิจัยโครมาโทกราฟีและการแยก, หน่วยวิจัยการวิเคราะห์เชิงสิ่งแวดล้อม, หน่วยวิจัยเคมีวัสดุและการเร่งปฏิกิริยา, หน่วยวิจัยเคมีอินทรีย์สังเคราะห์, ศูนย์วิจัยไบโอออร์แกนิกเคมี, หน่วยวิจัยอุปกรณ์รับรู้ และหน่วยปฏิบัติการวิจัยเชิงเคมีไฟฟ้าและแสง